Accessibility Tools

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ
Bueng kan Juvenile and Family Court

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ
image

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ

การกระทำความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายช่วยได้image

เรื่อง การกระทำความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายช่วยได้

****************************

        ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวนับเป็นปัญหาที่สำคัญและยิ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ นอกจากนั้นยังทำให้อนาคตของชาติส่วนหนึ่งมีปมในใจติดตัวไปตลอดชีวิต ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งในสังคมของทุกประเทศทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งผู้ถูกกระทำโดยมากมักจะเป็นคุณแม่และลูกน้อย จากข้อมูลของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชี้ว่าสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวที่พบได้บ่อย คือ คู่สมรสทำร้ายกันเอง ทั้งสามีทำร้ายภรรยาและภรรยาทำร้ายสามี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นส่วนน้อย บิดามารดาทำร้ายบุตร และผู้ที่แข็งแรงกว่าทำร้ายบุพการีที่มีความชราภาพ หรือญาติผู้ใหญ่ที่มีความอ่อนแอทางสรีระ ซึ่งโดยการกระทำความรุนแรงมีทั้งทางกาย ทางเพศ ทางจิตใจ รวมถึงการละเลยทอดทิ้ง และการบังคับแสวงหาประโยชน์ ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ เมื่อไล่ดูความเกี่ยวข้องของผู้ถูกกระทำความรุนแรงต่อหญิงแล้ว พบว่า อันดับหนึ่ง คือ “คู่สมรส” รองลงมาคือ แฟนหรือเพื่อน หรือแม้แต่พ่อแม่แท้ๆ ก็ยังติดโผ ส่วนบุคคลที่มีความสัมพันธ์ในลำดับรองลงมา เช่นเพื่อนบ้าน นายจ้าง ญาติพี่น้อง ก็มีติดอยู่ในรายการเช่นกัน
        ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ให้นิยามความหมายของความรุนแรงในครอบครัว ไว้ว่า
        “ความรุนแรงในครอบครัว” หมายความว่า การกระทำใดๆ โดยมุ่งประสงค์ให้เกิดอันตราย  แก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพ หรือกระทำโดยเจตนาในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับ หรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคลในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ แต่ไม่รวมถึงการกระทำโดยประมาท
        “บุคคลในครอบครัว” หมายความว่า คู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตร บุตรบุญธรรม สมาชิกในครอบครัว รวมทั้งบุคคลใดๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน
        ทั้งนี้ หากพิจารณาให้ลึกจะพบว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดจากความกดดันในปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
        1. ระดับตัวบุคคล เช่น ประสบปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ พิการ ปัญญาอ่อน เคยเห็นหรือเคยถูกทำร้ายในวัยเด็ก มีความภูมิใจในตัวเองต่ำ มีการดื่มสุรา ใช้สารเสพติดต่างๆ ขาดทักษะ ในการควบคุมอารมณ์ มีปัญหาทางจิต
        2. ระดับครอบครัว เช่น เป็นพ่อแม่ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพังเป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่อย่างแออัด ครอบครัวหย่าร้าง ผู้ปกครองมีการศึกษาไม่สูงมีทัศนคติต่อการใช้ความรุนแรงในทางบวก
        3. ระดับเพื่อนบ้านและชุมชน เช่น มีการย้ายที่อยู่บ่อยๆ อยู่ในชุมชนแออัด เป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ค่อยได้ติดต่อกับสังคมภายนอก มีแหล่งสุรา สารเสพติดอยู่ใกล้ๆ ในชุมชนไม่ช่วยเหลือกันและกัน
        4. ระดับสังคม เช่น สังคมที่อาศัยมีการแบ่งชนชั้น เชื้อชาติ วัฒนธรรมหรือสื่อในสังคมนั้นๆ มีการแสดงเรื่องความรุนแรงอยู่เป็นประจำ
        แต่ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวลุกลามและรุนแรงมากขึ้นก็คือ ความเชื่อผิดๆ ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว จึงทำให้ผู้ถูกกระทำปกปิดปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ขอความช่วยเหลือแม้จะสามารถทำได้ก็ตาม
รูปแบบการกระทำความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว พบได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
        1. ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การผลัก ตบตี ต่อย เตะ ทุบ กระทืบ กระชาก บีบคอ ล่ามโซ่ กักขัง รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธหรือของมีคมต่างๆ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส นอกจากนี้  การสำส่อนทางเพศอันเป็นเหตุให้ภรรยาและบุตรติดเชื้อโรคร้าย ก็เป็นการทำร้ายร่างการอย่างหนึ่งด้วย
        2. ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การพูดประชดประชัน ด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตะคอก ตวาด ทำให้ขายหน้า เปรียบเทียบเป็นสัตว์ ประณามว่าชั่วช้า ข่มขู่ การโดดเดี่ยว ไม่ให้คบกับบุคคลอื่น การมีภรรยาหลายคนในเวลาเดียวกัน การไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
        3. ความรุนแรงทางด้านเพศ เช่น การใช้กำลังบังคับภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์ในลักษณะที่ภรรยาไม่ชอบและไม่ต้องการ การบังคับให้ภรรยาขายบริการทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น การมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาโดยไม่คำนึงว่าภรรยาจะมีความสุขหรือไม่ เป็นต้น
กฎหมายช่วยได้ 
        สิ่งหนึ่งที่ควรทราบ หากมีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง จากบุคคลในครอบครัวก็คือ กฎหมายต่างๆ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หรือแม้กระทั่ง พ.ร.บ.พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ได้มีการให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น
        พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้ระบุไว้ว่า ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว  มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้กระทำโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
        ซึ่งการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อาจกระทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งด้วยคำพูด ยื่นเป็นหนังสือ โทรศัพท์ แจ้งทางอีเมล หรือวิธีการอื่นๆ ซึ่งผู้แจ้งโดยสุจริตจะได้รับการคุ้มครองและไม่ต้องรับความผิดใดๆ
        หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พบเห็นหรือได้ทราบการกระทำรุนแรงในครอบครัวพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุได้ทันที เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการกระทำ หากผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงต้องการที่จะดำเนินคดี ก็จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้นั้นไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ร้องทุกข์แทนก็ได้ และในการสอบสวนผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่ผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรงร้องขอ ร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้คำแนะนำปรึกษา
        นอกจากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่ง ในการกำหนดวิธีการหรือมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ ให้แก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เป็นการชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนไม่ว่าจะมีการร้องทุกข์หรือไม่ เช่น แจ้งให้ผู้กระทำรุนแรงชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามสมควร การสั่งห้ามเข้าใกล้ครอบครัว รวมถึงจัดให้เข้ารับการตรวจจากแพทย์ ทั้งนี้ ไม่ว่าคดีรุนแรงในครอบครัวจะดำเนินการไปถึงขั้นใด คู่กรณีก็สามารถยอมความกันได้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ถูกกระทำรุนแรงต้องปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำ หากไม่สามารถทำได้ ก็จะให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุดโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของลูกๆ เป็นสำคัญ 
        ผู้ที่กระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดโทษให้ผู้นั้นต้องรับโทษฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และในความผิดฐานกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น แต่หากการกระทำความผิดนั้น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้ความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้
        ความผิดฐานกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ถ้ามิได้มีการแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมิได้มีการร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอยู่ในวิสัยและมีโอกาสที่จะแจ้งหรือร้องทุกข์ได้ ให้ถือว่าคดีเป็นอันขาดอายุความ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้มีส่วนได้เสีย จะร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
        คดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าคดีอาญาทั่วไป เพราะคดีรุนแรงในครอบครัวเป็นการทำร้ายกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวแตกต่างจากการ ทำร้ายร่างกายในคดีอาญาปกติ การใช้มาตรการทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป ที่มุ่งการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเดียว ที่เป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวิธีการในการดำเนินคดีต่างหาก โดยหวังให้ผู้กระทำผิดกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัว
การร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ
        ในเรื่องของการร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้ให้ความคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว อาจร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ตนมีถิ่นที่อยู่ หรือมีภูมิลำเนา หรือในเขตอำนาจของศาลที่เกิดเหตุ การกระทำด้วยความรุนแรงขึ้น เพื่อขอให้ศาลออกคำสั่งกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงอาจร้องขอได้ด้วยตนเอง หรือหากไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัย ที่จะร้องขอได้ด้วยตนเอง ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใด อาจกระทำการแทนเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายได้
        มาตรการหรือวิธีการที่ศาลอาจกำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวต้องปฏิบัติ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ศาลมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาเสพสุราหรือสิ่งมึนเมา ห้ามเข้าใกล้ที่อยู่อาศัยหรือที่ทำงานของผู้ร้อง ห้ามใช้หรือครอบครองทรัพย์สิน ห้ามกระทำการใดอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวเป็นระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร แต่ไม่เกินกว่า 6 เดือน และศาลอาจกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับคำแนะนำจากศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือสถานพยาบาล หรือหน่วยงานตามที่ศาลกำหนด และเมื่อศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพแล้ว คำสั่งนั้นถือเป็นที่สุด แต่ถ้าพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ศาลมีอำนาจแก้ไขคำสั่งเดิมได้
        เมื่อศาลได้ออกคำสั่งมาตรการหรือวิธีการเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ในกรณีที่ผู้ที่กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลมีอำนาจออกหมายจับผู้นั้นมาขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ไม่เกินกว่า 1 เดือน
        อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎหมายออกมาให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไปจากสังคมได้ ยังคงมีผู้ที่กระทำและถูกกระทำด้วยความรุนแรงอยู่อีกมาก อันมีสาเหตุมาจากปัญหาในครอบครัว หากครอบครัวมีความมั่นคง แข็งแรง จะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันที่สำคัญ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สมาชิกครอบครัวก็สามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นแหล่งยึดเหนี่ยวไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ แต่ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมต่างๆ กำลังดึงคนออกจากบ้านมากขึ้น การจะทำให้ครอบครัวอบอุ่น ควรยึดหลักอันสำคัญ ได้แก่ ปรับตัวเข้าหากันเรียนรู้ร่วมกันทั้งคู่ อย่าถืออัตตาหรือเอาตนเองเป็นที่ตั้ง มีปิยวาจาพูดกันด้วยวาจาที่ดี สุภาพไม่ค่อนแคะหรือขุดเอาเรื่องเก่ามาพูดบ่อยๆ ต้องเข้าใจคนอื่น รู้จักการให้อภัยแก่กัน ไม่ใจร้อนเพราะความใจร้อนอาจนำไปสู่การทะเลาะวิวาทขึ้นในครอบครัว พยายามใกล้ชิดกับลูกให้มาก มีเวลาให้ลูกอย่างมีคุณค่า และแบ่งเวลาให้คู่สมรส ทำให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความรู้สึกกลับบ้านแล้วมีความสุข ครอบครัวจะต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด พ่อแม่อย่าทุ่มเถียงกันต่อหน้าลูก และอย่าให้ลูกเกิดความรู้สึกอิจฉาน้อง โดยพ่อแม่ต้องไม่ลำเอียง นี่อาจจะเป็นเพียงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สามารถทำให้ครอบครัวมีความสุข และลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้
        สำหรับท่านใดที่ประสบปัญหา สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้จากเครือข่ายต่างๆ เช่น ติดต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวที่ใกล้บ้าน หรือหากต้องการขออำนาจศาลในการคุ้มครองสวัสดิภาพ ก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ หรือศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจตามภูมิลำเนาของผู้ร้องขอ หากถูกกระทำละเมิดและเป็นความผิดทางอาญา สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้เป็นหลักฐาน หรือแจ้งให้ดำเนินคดีทางอาญาได้
        การถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายช่วยได้ อย่ากลัวที่จะแจ้งเรื่องราวต่างๆ ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ


image เอกสารแนบ